• สุขศึกษา - ครูมนิดา บุญยัสสะ
    โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ เลขที่ 10 ถ. นาเชือก-พยัคฆภูมิพิสัย ต.นาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 44170

?หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ โรคและการป้องกัน


หน่วยการเรียนรู้ที่ ๒ โรคและการป้องกัน
 
            ปัญหาสุขภาพเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  โดยสาเหตุของการเจ็บป่วยและการตายของคนไทยนั้นอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ  ซึ่งล้วนแต่นำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ ทั้งสิ้น  การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโรครวมถึงมีส่วนร่วมในการเสนอแนะแนวทางป้องกันโรคที่ถูกต้องเหมาะสมจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค  อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตนเองและผู้อื่นอีกด้วย
 
๒.๑ สถานการณ์การเจ็บป่วยและการตายของคนไทยในปัจจุบัน
ในปัจจุบันคนไทยตายราว ๔ แสนกว่าคนในแต่ละปี แต่จำนวนตายนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต อีกราว ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า อาจจะมีคนไทยตายปีละกว่า ๖ แสนคน (หรือที่อัตราตายประมาณ ๑๐ คน ต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน) ซึ่งจะเป็นจำนวนพอๆ กับการเกิดซึ่งทำให้ประชากรไทยไม่เพิ่มขึ้นหรืออาจถึงขั้นลดจำนวนลง อายุเฉลี่ยของประชากรไทยที่สูงขึ้นมากในช่วงเวลา ๓-๔ ทศวรรษที่ผ่านมานี้ เป็นผลอย่างมากจากการลดลงของการตายในวัยทารกและเด็ก เมื่อ ๔๐ ปีก่อนเด็กเกิดมา ๑,๐๐๐ คน จะตายไปเสียตั้งแต่อายุยังไม่ครบขวบถึง ๘๐ คน
http://3.bp.blogspot.com/-eUzc42pYS7Q/VmLrGcdI7iI/AAAAAAAAAAM/KlgIThyKuU8/s640/pe1.jpg
 
สาเหตุการตายของประชากรไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ในอดีต คนไทยตายมากเพราะโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดไปได้ทั้งทางน้ำ อากาศ หรือโดยพาหะนำโรคชนิดต่างๆ ปัจจุบันการตายของประชากรไทยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอยู่และการใช้ชีวิตของตนเอง สาเหตุการตายที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจและหลอดเลือด มะเร็ง เอดส์ โรคหัวใจ ความดันเลือด รวมทั้งอุบัติเหตุบนถนน
 
 
 
          ๑) รายงานผู้ป่วยนอก  จากรายงานซึ่งวัดจากจำนวนครั้งในการเข้ารับการบริการของผู้ป่วยนอกของสถานบริการสาธารณสุข โดยพบสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยของผู้ป่วยนอกในปี พ.ศ. ๒๕๖๒  ด้วยโรคต่างๆ ดังนี้
ลำดับ
กลุ่มโรค
สาเหตุการป่วย (โรค/กลุ่มโรค) ทั้งประเทศ
อันดับ อัตรา
9 Diseases of the circulatory system (I00-I99)
โรคระบบไหลเวียนเลือด
1 682.99
4 Endocrine, nutritional and metabolic diseases (E00-E90) โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โภชนาการ และเมตะบอลิซึม 2 632.34
11 Diseases of the digestive system (K00-K93)
โรคระบบย่อยอาหาร รวมโรคในช่องปาก
3 468.16
13 Diseases of the musculoskeletal system and connective tissue (M00-M99)
 โรคระบบกล้ามเนื้อ รวมโครงร่าง และเนื้อยึดเสริม 
4 458.33
10 Diseasesof the respiratory system (J00-J99) โรคระบบหายใจ 5 410.78
14 Diseases of the genitourinary system (N00-N99) โรคระบบสืบพันธุ์ร่วมปัสสาวะ 6 225.93
5 Mental and behavioral disorders (F00-F99) ภาวะแปรปรวนทางจิตและพฤติกรรม 7 141.38
1 Certain infectious and parasitic diseases (A00-A99, B00-B99) โรคติดเชื้อและปรสิตอื่น ๆ 8 140.89
12 Diseases of the skin and subcutaneous tissue (L00-L99) โรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้รองลงมา คือ   9 107.02
7 Diseases of the eye and adnexa (H00-H59) โรคตารวมส่วนประกอบของตา 10 103.30
          จากรายงานผู้ป่วยนอก ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ พบว่าโรคระบบไหลเวียนเลือดถือเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยอันดับที่ ๑  รองลงมาคือ คือ โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โภชนาการ และเมตะบอลิซึม  และโรคโรคระบบย่อยอาหาร รวมโรคในช่องปาก  ตามลำดับ  นอกจากนี้ยังพบว่าทุกโรคมีแนวโน้มของผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
 
 
 
๒) รายงานผู้ป่วยใน  สำหรับกลุ่มผู้ป่วยในหรือกลุ่มผู้ป่วยซึ่งรับไว้รักษาในโรงพยาบาล  พบสาเหตุของการเจ็บป่วยโรคต่างๆ ดังนี้
 จำนวนและอัตราผู้ป่วยในทั้งประเทศต่อประชากร 100,000 คน (รวมทุกการวินิจฉัยโรค) ตามกลุ่มสาเหตุการป่วย 10 อันดับแรก เปรียบเทียบตามเพศ ปี พ.ศ. 2562
อันดับ ลำดับ
กลุ่มโรค
สาเหตุการป่วย (ชื่อโรค/กลุ่มโรค) ทั้งประเทศ  
จำนวน อัตรา  
1 111 Other Endocrine, nutritional and metabolic disorders ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ โภชนาการและเมตะบอลิกอื่น ๆ 2,381,615 3,632.89  
2 145 Essential (primary) hypertension (I10)
ความดันโลหิตสูงที่ไม่มีสาเหตุนำ
1,556,403 2,374.12  
3 104 Diabetes mellitus (E10-E14) เบาหวาน 1,002,310 1,528.91  
4 214 Renal failure (N17-N19) ไตวาย 855,419 1,304.85  
5 098 Other anaemias (D51-D64) โลหิตจางอื่น ๆ 838,983 1,279.78  
6 169 Pneumonia (J12-J18) ปอดบวม 523,336 798.29  
7 005 Diarrhoea and gastroenteritis of presumed infectious origin อาการท้องร่วง กระเพาะและลำไส้อักเสบ ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อ 440,445 671.85  
8 179 Other diseases of the respiratory system
โรคอื่น ๆ ของระบบทางเดินหายใจ
344,373 525.30  
9* 242 Other complications of pregnancy and delivery ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของการตั้งครรภ์ และการคลอด 280,033 427.16  
10 150 Conduction disorders and cardiac arrhythmias ความผิดปกติของการนำกระแสไฟฟ้าหัวใจและหัวใจเต้นผิดจังหวะ 276,660 422.01  
หมายเหตุ:  * อันดับที่ 9 ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของการตั้งครรภ์ และการคลอด (O20-O29, O60-O63, O67-O71, O73-O75, O81-O84) การคำนวณอัตราป่วยเพศหญิงใช้จำนวนประชากรรวมเฉพาะเพศหญิงเป็นตัวหาร
๒.๒ โรคติดต่อที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและการตายของคนไทย
          โรคติดต่อนับเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและการตายของคนไทยมาแต่อดีตและยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย  โดยสาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม  เนื่องจากสภาพทางสังคมที่เสื่อมโทรมลง  เช่น  โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  โรคเอดส์  เป็นต้น  อีกทั้งยังมีโรคติดต่อชนิดใหม่ๆ  ซึ่งยากต่อการควบคุมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
          ๑) โรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์
          โรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases : STD)  เป็นโรคที่ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค  ผ่านการแลกเปลี่ยนสารคัดหลั่งของร่างกาย  เช่น  ของเหลวจากช่องคลอด      น้ำอสุจิ  เลือด  เป็นต้น  ซึ่งสามารถส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่ออวัยวะส่วนอื่นๆ ได้  โดยอาจจำแนกตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคดังนี้
ชนิดของเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
๑. เชื้อแบคทีเรีย โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน โรคติดเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia)
๒. เชื้อไวรัส โรคเอดส์ โรคเริม โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคหูดหงอนไก่ โรคหูดข้าวสุก
๓. เชื้อรา การอักเสบของช่องคลอดและปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อรา
๔. ปรสิต การอักเสบของช่องคลอดจากพยาธิหนวด การอักเสบจากโลน หิด
ผู้เป็นโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์มักอายที่จะไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา  ซึ่งเป็นผลเสีย     อย่างมากเนื่องจากหากปล่อยไว้จนลุกลามอาจยากต่อการรักษา  ซึ่งควรมีการป้องกัน ดังนี้
หลักการป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์
๑. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
๒. มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการใช้ถุงยางอนามัย
๓. หลีกเลี่ยงสถานที่หรือสิ่งกระตุ้นทางเพศอันจะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
๔. ไม่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ
๕. ความเชื่อที่ผิดว่ามีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวไม่ทำให้เกิดโรค
 
๑) ไวรัสโคโลนา
สถานการณ์ COVID-19 ยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงในบ้านเราเองด้วย ดังนั้นเพื่อความชัดเจนในข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้
๒.๑) COVID-19 คืออะไร
          โรค COVID-19 คือ โรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งพบการระบาดในช่วงปี 2019 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยในตอนนั้นเราจะรู้จักกันโรคนี้ในชื่อว่า ไวรัสอู่ฮั่น ก่อนที่ภายหลังจะระบุเชื้อก่อโรคได้ว่าเป็นเชื้อในตระกูลโคโรนาไวรัส แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น ทางองค์การอนามัยโลก           จึงได้ตั้งชื่อโรคติดต่อชนิดนี้ใหม่อย่างเป็นทางการ โดยมีชื่อว่า COVID-19  เพื่อไม่ให้เกิดรอยมลทินกับพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรคด้วย
          โคโรนาเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินระบบหายใจ มีมานานกว่า ๖๐ ปี แล้ว และจัดเป็นเชื้อไวรัสตระกูลใหญ่ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยชื่อโคโรนาก็มีที่มาจากลักษณะของเชื้อไวรัสที่รูปร่างคล้ายมงกุฎ (Corona เป็นภาษาละตินที่แปลว่ามงกุฎ) เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้มีสารพันธุกรรมเป็น RNA มีเปลือกหุ้มด้านนอกที่ประกอบไปด้วยโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ไขมันเป็นปุ่มๆ ยื่นออกไปจากอนุภาคไวรัส      อธิบายง่ายๆ คือเป็นเชื้อไวรัสที่มีหนามอยู่รอบตัว จึงสามารถเกาะตัวอยู่ในอวัยวะที่เป็นเป้าหมายของเชื้อไวรัสได้
          โคโรนาไวรัสเป็นเชื้อที่ก่อโรคได้ทั้งในคนและสัตว์ เนื่องจากตัวไวรัสมีสารพันธุกรรม RNA ซึ่งมีโอกาสกลายพันธุ์สูง สามารถติดเชื้อข้ามสปีชีส์กันได้ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีการรวมตัวของสัตว์อย่างหนาแน่น เช่น ตลาดค้าสัตว์ เป็นต้น ดังนั้นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคก็อาจจะมาจากสัตว์ปีก เช่น นก ค้างคาว ไก่ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ม้า วัว แมว สุนัข กระต่าย หนู อูฐ รวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลานอย่างงู เป็นต้น
          จริง ๆ แล้วเราเจอกับโคโรนาไวรัสกันอยู่เนือง ๆ เพราะอย่างที่บอกว่าโคโรนาไวรัสมีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรง เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา แต่ก็มีโคโรนาไวรัสบางสายพันธุ์ที่ก่ออาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้ เช่น โรคซาร์ส ที่มีสาเหตุมาจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV ข้ามสปีชีส์จากค้างคาวมาสู่ตัวชะมด แล้วมาติดเชื้อในคน และโรคเมอร์ส ที่มีสาเหตุมาจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ MERS-CoV ข้ามสปีชีส์จากค้างคาวสู่อูฐ และมาติดเชื้อในคน และล่าสุดกับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ก่อโรค COVID-19 ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่แกะกล่อง
          โดยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า SARS-CoV-2 เป็นเชื้อไวรัสลำดับที่ 7 ในตระกูล coronaviruses lineage B จีนัส betacoronavirus ที่ก่อให้เกิดโรคในคน
เชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ SARS-CoV-2 มีต้นตอมาจากไหน
          จากการศึกษาทางพันธุกรรมของไวรัส และการเรียงลำดับของรหัสแต่ละตัวทำให้พบต้นตอของเชื้อ SARS-CoV-2 ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้มีจำนวนนิวคลีโอไทด์ที่เหมือนกันถึงร้อยละ 89.1 ของเชื้อ SARS-like coronaviruses ในค้างคาวที่เคยพบในประเทศจีน และในภายหลังก็มีข้อมูลที่ยืนยันว่า ต้นตอของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมระหว่างโคโรนาไวรัสของค้างคาวกับโคโรนาไวรัส     ในงูเห่า กลายพันธุ์เป็นโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ SARS-CoV-2 ที่แพร่เชื้อจากงูเห่ามายังคนได้
โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ระบาดในคนได้อย่างไร
          โคโรนาไวรัสเป็นเชื้อที่ไม่สามารถอยู่เดี่ยว ๆ ได้ แต่จะแฝงตัวอยู่ในละอองฝอยจากการไอ จาม และสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ ดังนั้นการแพร่เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็ต้องได้รับเชื้อผ่านการสูดดมละอองฝอยขนาดใหญ่และละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศ รับเชื้อเข้าไปในทางเดินหายใจ หรือใครที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1-2 เมตร ก็อาจจะติดเชื้อจากการสูดฝอยละอองขนาดใหญ่ และฝอยละอองขนาดเล็กจากการไอ จาม รดกันโดยตรง หรือหากอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตรขึ้นไป ก็อาจติดเชื้อจากการสูดฝอยละอองขนาดเล็กได้เหมือนกัน
          นอกจากนี้โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ยังอาจแพร่เชื้อโดยการสัมผัสได้ เช่น การจับของใช้สาธารณะร่วมกัน แล้วมาสัมผัสเยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ขยี้ตา สัมผัสปาก หรือหยิบของกินเข้าปาก เป็นต้น
          การที่เชื้อไวรัสจะก่อโรคในร่างกายเราได้ เราต้องได้รับเชื้อไวรัสดังกล่าวผ่านเยื่อบุต่าง ๆ จนนำไปสู่การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เซลล์เยื่อบุหลอดลม ซึ่งไวรัสจะใช้ผิวเซลล์ของไวรัสจับกับเอนไซม์ที่ผิวเซลล์มนุษย์ จากนั้นไวรัสจะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนเชื้อในตัวเรา ซึ่งหากภูมิต้านทานของเราไม่สามารถจัดการกับเชื้อไวรัสนี้ได้  จำนวนเชื้อไวรัสก็จะเพิ่มมากขึ้น และกระจายไปยังเซลล์ข้างเคียง ทำลายเซลล์ในหลอดลมและปอด ทำให้ปอดอักเสบและเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวได้
ติดเชื้อโคโรนาไวรัสแล้วอันตรายต่อปอดแค่ไหน
          ต้องบอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคนี้ แล้วเชื้อจะลงปอดเสมอไป โดยกรมควบคุมโรคเคยให้ข้อมูลไว้ว่า มีเพียง 15-20% ที่เชื้อลงปอดแล้วทำให้เป็นปอดอักเสบ แต่เมื่อลงปอดไปแล้วจะก่อความรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานร่างกายของแต่ละคน ขณะที่ข้อมูลผู้ติดเชื้อในประเทศจีนพบว่า การลงปอดมักเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สองหลังจากได้รับเชื้อแล้ว แต่มีผู้ติดเชื้อประมาณ 80% ที่เชื้อไม่ลงปอด เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา
          ทั้งนี้ กรณีเชื้อไวรัสลงปอดจะเกิดขึ้นเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแบ่งตัวและเจริญเติบโตในเซลล์มนุษย์ เช่น เซลล์ของเยื่อบุหลอดลม จึงจะก่อโรคได้ และเซลล์มนุษย์ที่ติดเชื้อจะเพิ่มจำนวนและปล่อยเชื้อไวรัสออกมานอกเซลล์ เพื่อไปก่อโรคในเซลล์ข้างเคียง เมื่อเชื้อไวรัสเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำลายเซลล์มนุษย์ในหลอดลม ถุงลม และเนื้อปอด รวมทั้งเซลล์ข้างเคียงด้วย
          หากภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรงพอ หรือสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาช้า เพราะเม็ดเลือดขาวเพิ่งพบกับเชื้อไวรัสเป็นครั้งแรก ทำให้ภูมิต้านทานทำลายเชื้อไม่ทัน ผู้ป่วยจะมีอาการปอดอักเสบ และเมื่อเซลล์ที่ติดเชื้อจำนวนมากตาย จะถูกทดแทนด้วยพังผืดในเวลา 2-3 สัปดาห์หลังการเจ็บป่วย
          อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่า ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบส่วนใหญ่ เนื้อปอดจะถูกทำลายไปราว 20% ซึ่งหากเนื้อปอดถูกทำลายไม่ถึง 50% ร่างกายฟื้นฟูเองได้ตามสภาพแต่ละคน ทว่าจะมีผู้ป่วยราว 5% ที่เนื้อปอดถูกทำลาย 70-80% กรณีนี้ถือว่า วิกฤต ร่างกายอาจฟื้นตัวไม่ไหว หรือแพทย์อาจต้องใช้เครื่อง ECMO หรือเครื่องหัวใจ-ปอดเทียมแบบเคลื่อนย้าย มาทำงานแทนหัวใจและปอดของผู้ป่วย ซึ่งหากช่วยไม่ไหว สุดท้ายแล้วระบบหายใจจะล้มเหลวและเป็นเหตุให้ผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสเสียชีวิต
ผู้ป่วย COVID-19 มีโอกาสเป็นปอดอักเสบได้มากน้อยแค่ไหน
         โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นคนที่มีภูมิต้านทานแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีปัญหาที่ปอด ส่วนใหญ่จะสามารถทนต่อการก่อโรคของเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ที่ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น พร้อมกันนั้นภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะพยายามต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ทันกาล ก่อนที่ปอดจะเสียหายหนัก
         แต่สำหรับคนที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน     ทำให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวมาสู้โรคได้ไม่ทันหรือผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรังอยู่แล้ว รวมทั้งคนที่สูบบุหรี่   บ่อยๆ ก็อาจทำให้ปอดติดเชื้ออย่างรุนแรงและรวดเร็วขึ้น
โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ มีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน
          ข้อมูลจาก ศ. นพ.ธีระรัฒน์ เหมะจุฑา เผยว่า เชื้อโคโรนาไวรัสจะมีชีวิตอยู่ได้ที่อุณหภูมิประมาณ    20-40 องศาเซลเซียส โดยสามารถอยู่บนพื้นผิวได้นานถึง 20 วัน ในสภาพอากาศเย็น และในสภาพอากาศร้อน เชื้อไวรัสจะอยู่ได้ 3-9 วัน
          ขณะที่เพจ Infectious ง่ายนิดเดียวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาไวรัสที่มีลักษณะคล้ายกัน พบว่าสามารถอยู่บนพื้นผิวโลหะ แก้ว ไม้ หรือพลาสติก ประมาณ 4-5 วัน ณ อุณหภูมิห้อง แต่ในสภาพภูมิอากาศประมาณ 4 องศาเซลเซียส เชื้อจะอยู่ได้ราว ๆ 28 วัน ในกรณีอุณหภูมิมากกว่า 30 องศาเซลเซียส อายุเชื้อไวรัสจะสั้นลง และในสภาพความชื้นที่มากกว่า 50% เชื้อไวรัสจะอยู่ได้นานกว่าสภาพความชื้นที่ 30%
โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ กลัวอะไร
          เชื้อไวรัสตัวนี้ไม่ทนความร้อน ดังนั้นแค่เจออุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ก็ทำให้เชื้อตายได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสตัวนี้ยังจะตายได้ง่าย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 70% และการทำความสะอาดด้วยสบู่อย่างเหมาะสม กล่าวคือ ล้างมือด้วยสบู่เป็นระยะเวลา 15-30 วินาที รวมไปถึงสารลดแรงตึงผิวต่าง ๆ เช่น ผงซักฟอก สารฟอกขาว (Sodium hypochlorite) ที่ความเข้มข้น 0.1-0.5% โพวิโด ไอโอดีน 1% หรือไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ 0.5-7.0% เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แหละที่โคโรนาไวรัสจะไม่ทน เพราะไวรัสชนิดนี้มีไขมันหุ้มอยู่ด้านนอก ดังนั้น หากใช้สารลดแรงตึงผิวทำลายไขมันที่หุ้มอยู่ได้ ก็จะฆ่าไวรัสได้
COVID-19
วิธีป้องกันโคโรนาไวรัส ควรทำยังไง
          เราสามารถป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสได้ ดังนี้
          1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
          2. สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูดดมละอองฝอยขนาดใหญ่ได้ถึง 80%
          3. อยู่ห่างจากผู้ป่วย หรือผู้ที่มีอาการไอ จาม อย่างน้อย 2 เมตร
          4. ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจับหรือใช้ของสาธารณะ หลังเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร
          5. หลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสใบหน้า และดวงตา
          6. กินอาหารปรุงร้อน สดใหม่ และใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
 
๒) โรคเอดส์
๒.๑) เอชไอวีและเอดส์คืออะไร
โรคเอดส์เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เอชไอวีซึ่งย่อมาจากคำว่า                        human immunodeficiency virus เป็นเชื้อไวรัส ในขณะที่โรคเอดส์หรือ acquired immune deficiency syndrome คือกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกเชื้อไวรัสทำลายจนร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคทั้งหลายที่เข้าสู่ร่างกายได้  ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจไม่พัฒนาอาการจนเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์เต็มขั้น
 
 
๒.๒) ผลกระทบของเอชไอวีและเอดส์ที่มีต่อร่างกายมนุษย์
เมื่อร่างกายติดเชื้อเอชไอวี  เชื้อเอชไอวีจะโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ จนในที่สุดเชื้อไวรัสจะโจมตีร่างกายทั้งหมด
เป้าหมายของเอชไอวีคือการทำลายเซลล์ที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคและการติดเชื้อไวรัสต่างๆ เซลล์นี้มีชื่อว่า CD4 (หรือเซลล์ T-helper) เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เอชไอวีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ติดเชื้ออ่อนแอลงจนทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย ในขณะที่คนที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรงจะสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านี้ได้ดีกว่า ความช้าเร็วของการดำเนินโรคและผลกระทบที่เชื้อเอชไอวีมีต่อร่างกายขึ้นอยู่กับผู้ติดเชื้อแต่ละคน ปัจจัยหลายอย่างเช่น สุขภาพและอายุ รวมถึงความช้าเร็วในการได้รับการรักษา ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินโรคทั้งสิ้น คนบางคนสามารถติดเชื้อเอชไอวีนานหลายปีโดยไม่มีอาการของโรคเอดส์  ปัจจัยที่อาจทำให้การติดเชื้อเอชไอวีพัฒนาเป็นอาการของโรคเอดส์รวดเร็วขึ้นนั้น ยังคงรวมถึงปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การมีอายุมากขึ้น ภาวะโภชนาการไม่ดี หรือติดเชื้อร่วมกับโรคอื่น เช่น ตับอักเสบซีหรือวัณโรค
          ๒.๓) การติดเชื้อเอชไอวี
คนสามารถติดเชื้อเอชไอวีโดยการสัมผัสกับเลือด น้ำอสุจิ ของเหลวจากช่องคลอด หรือแม้แต่น้ำนมแม่ สาเหตุการแพร่เชื้อส่วนใหญ่มาจากการมีเพศสัมพันธ์และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือส่งผ่านจากแม่สู่ลูกระหว่างการตั้งครรภ์  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนควรมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเข็มฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค ไม่ว่าจะระหว่างการไปพบแพทย์หรือการใช้เพื่อนันทนาการ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อเอชไอวีจากการจับมือทักทาย การกอด การจูบ การจาม การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้ภาชนะและช้อนส้อมร่วมกันหรือการสัมผัสในรูปแบบอื่นๆที่ ไม่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวี การทำกิจกรรมที่กล่าวมานี้ ไม่สามารถทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้
          ๒.๔) การติดเชื้อเอชไอวี ๓ ระยะ
- ระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious) เป็นระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี เกิดขึ้นระหว่าง ๒-๔ สัปดาห์  หลังจากติดเชื้อ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะเริ่มมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้     เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีผื่นและปวดหัว อาการเหล่านี้เรียกว่า acute retroviral syndrome หรือ ARS เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อเอชไอวี ในระยะนี้ เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนอย่างมากในร่างกาย ทำให้เซลล์ CD4 ในร่างกายลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูงมากที่ผู้ติดเชื้อจะแพร่กระจายไวรัสไปยังผู้อื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีอย่างไรก็ตาม หลังจากระยะเฉียบพลัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อยๆ ทำให้ปริมาณของเชื้อไวรัสอยู่ในระดับคงที่ หรือเรียกว่า viral set point หมายความว่าเชื้อไวรัสมีปริมาณที่คงที่ในร่างกายและปริมาณเซลล์ CD4 เริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่จะไม่สูงเท่ากับก่อนติดเชื้อ
- ระยะถัดมาคือ ระยะสงบทางคลินิก  (Clinical Latency Stage) เป็นระยะที่เชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใดๆ หรืออย่างมากที่สุดคือมีอาการเพียงเล็กน้อย บางครั้งเรียกระยะนี้ว่า ระยะติดเชื้อเรื้อรัง (chronic HIV infection) หรือ ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (asymptomatic HIV infection) ในระยะนี้ไวรัสจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในระดับต่ำ และมักจะใช้เวลานานถึง 10 ปี แต่สำหรับผู้ติดเชื้อบางคนอาจใช้เวลาน้อยกว่านั้น
- ระยะสุดท้ายคือ ระยะโรคเอดส์ (AIDS) เป็นระยะที่การติดเชื้อเอชไอวีได้พัฒนาเป็นโรคเอดส์   ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมีปริมาณเซลล์ CD4 อยู่ระหว่าง ๕,๐๐๐-๑,๖๐๐ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเอดส์มี CD4 ต่ำกว่า ๒๐๐ เมื่อถึงจุดนี้ระบบภูมิคุ้มกันได้ถูกทำลายอย่างรุนแรงจนผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แต่จะทำให้เกิดโรคกับผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ไม่ว่าผู้ติดเชื้อมีปริมาณ CD4 เท่าใดก็ตาม หากมีอาการติดเชื้อฉวยโอกาสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าถือว่าผุ้ติดเชื้อนั้นเป็นโรคเอดส์
          ๒.๕) อาการของโรคเอดส์
อาการของโรคเอดส์มีดังนี้
- ปอดอักเสบ
- สูญเสียความจำ อาการซึมเศร้าและอาการทางระบบประสาทอื่นๆ
- ท้องเสียเรื้อรังนานกว่าหนึ่งสัปดาห์
- เหนื่อยผิดปกติ
- อาการไข้ที่กลับมาเป็นซ้ำๆ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
- มีผื่นตามผิวหนัง ในช่องปาก จมูกและเปลือกตา
- แผลที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศและทวารหนัก
- อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้และขาหนีบ
อาการของโรคเอดส์อาจเป็นอาการของโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคเอดส์ก็ได้ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ควรทำการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี (HIV test)
          ๒.๖) การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ให้หายขาดได้ แต่มียาหลายชนิดที่ช่วยรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวี  ยารักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ที่ได้รับการรับรองมากกกว่า ๒๕ ชนิด เรียกว่า ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs หรือเรียกย่อว่า ARV) ซึ่งทำหน้าที่ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อ เอชไอวี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคสู่คนอื่น
การรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวีประกอบด้วยการใช้ยาต้านไวรัสในกลุ่ม ARV หลายชนิดรวมกัน     เพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ หรือเรียกว่า Antiretroviral therapy (ART) วิธีการนี้เป็นการรักษาโรคโดยการควบคุมไวรัสไม่ให้ขยายพันธุ์ ทำให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่น ในปัจจุบันวงการแพทย์แนะนำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนรับการรักษาด้วย ยา ARV
 
หากกังวลว่าตัวเองอาจติดเชื้อเอชไอวีภายในระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมง (๓ วัน) สามารถใช้ยา ARV หลังสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PEP) เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับยาให้เร็วที่สุดภายในเวลา ๓ วันหลังจากสัมผัสเชื้อเอชไอวีเพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิผล
นอกจากนี้ ยา ARV สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis หรือชื่อย่อว่า PrEP) ใช้ในผู้ไม่มีเชื้อเอชไอวีแต่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูง และต้องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต้องรับประทานยาทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
          ๒.๗) ทำไมจึงจำเป็นต้องทำการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากคุณกังวลเพียงเล็กน้อยว่าคุณอาจติดเชื้อเอชไอวี คุณควรทำการตรวจเลือด เป็นวิธีการที่รวดเร็วและง่ายดายและบริการฟรีในหลายๆ แห่ง  วิธีการเดียวที่จะรู้ว่าคุณติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่คือการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี การตรวจเลือดแต่เนิ่นๆ ช่วยลดความกังวลใจและทำให้คุณได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง  หากคุณติดเชื้อเอชไอวี การได้รับการวินิจฉัยแต่เริ่มแรกทำให้คุณสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองและคู่ครองรวมถึงคนอื่นที่คุณห่วงใย ถึงแม้ผลเลือดจะบ่งชี้ว่าคุณมีการติดเชื้อ การได้รู้ว่าตัวเอง     
มีการติดเชื้อจะทำให้คุณสามารถดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองและใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม
          ๓) โรคไข้หวัดนก
๓.๑) โรคไข้หวัดนกคืออะไร
โรคไข้หวัดนกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ที่พบในนกและสัตว์ปีก  โดยอาการและความรุนแรงของโรคขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสและชนิดของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ สายพันธุ์ที่มีความสำคัญคือ H5N1 ซึ่งทำให้สัตว์ปีกที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและตายอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในปี พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๙ แต่หลังจากปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้นมายังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกจนถึงปัจจุบัน  ไข้หวัดนกสามารถติดต่อได้ในสัตว์ปีกทุกชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง
๓.๒) โรคไข้หวัดนกติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร
โรคไข้หวัดนกสามารถติดต่อจากสัตว์ปีกมาสู่คนได้ ทั้งจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ปีกที่ป่วยโดยตรง เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำลายของสัตว์ปีก หรือเกิดจากการสัมผัสสิ่งแวดล้อม พื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากสัตว์ปีกที่ป่วย สำหรับการติดต่อจากคนสู่คนมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก
๓.๓) ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดนกมีอาการอย่างไร
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก คือผู้ที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ในช่วง ๑๔ วันก่อนมีอาการ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมักมีอาการเด่นคือ ไข้ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่มีอาการไอและหายใจเหนื่อยหอบจากปอดอักเสบ ผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางปอดรุนแรงคือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว นอกจากนี้อาจพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย และอาจพบอาการทางระบบประสาท เช่น ซึม ชัก ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมากจะมีภาวะการทำงานของหลายอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้  กลุ่มผู้ป่วยที่มักจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต คือ กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์
๓.๔) มีวิธีการวินิจฉัยโรคอย่างไร
แพทย์ที่ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก จะเก็บสิ่งคัดหลั่งจากทางเดินหายใจและอุจจาระ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค และห้องปฏิบัติการเครือข่าย ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๓.๕) มีวิธีการรักษาอย่างไร
ผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนก ควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้โรงพยาบาลจะต้องมีแนวทางการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยหากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะต้องใช้ห้องแยกโรค และใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายอย่างเหมาะสม
๓.๖) การป้องกันทำได้อย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนก แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะ     ในบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  วิธีการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกที่ดีที่สุดคือ            การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งที่มาจากสัตว์ปีกโดยตรง หากมีการสัมผัสควรใช้สบู่ล้างมือให้สะอาด ส่วนผู้ที่ต้องทำงานกับสัตว์ปีกควรสวมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม เช่น หน้ากากปิดจมูก ถุงมือ แว่นตา รวมทั้งล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดภายหลังสัมผัสสัตว์ปีกหรือเสร็จจากการทำงาน
นอกจากนี้อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ในบุคคลที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก โดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม
 
๒.๓ โรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและการตายของคนไทย
๑. มะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ ๑ ติดต่อกันมา ๕ ปีมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ ๕๐,๐๐๐ คน เฉลี่ยชั่วโมงละ ๖ คน พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ ๗๐,๐๐๐ คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคมะเร็งที่พบมากที่สุด ๖ อันดับแรกในปี ๒๕๔๗ ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งในช่องปาก โดยมะเร็งที่ผู้ชายเป็นกันมากอันดับ ๑ ได้แก่ มะเร็งตับ รองลงมาคือ มะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนมะเร็งที่พบในผู้หญิงตามลำดับคือมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ
๒. โรคจากแอลกอฮอล์
          แอลกอฮอล์ เป็นบ่อเกิดของโรคร้ายมากมาย เช่นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ ตับอ่อนอักเสบ โรคกระเพาะและกระเพาะรั่ว ภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มักเป็นเรื้อรัง ทั้งยังก่อเกิดภาวะแทรกซ้อนในโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ) ไขมันในเลือดสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ     โรคทางจิตก็มีสาเหตุจากแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน ต้นเหตุการป่วยทางจิต ๑ ใน ๓ มาจากการติดเหล้า และพบว่าในกลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ ๙๐% เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือใช้แอลกอฮอล์ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน โดยผู้ป่วยทางจิตจะมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าผู้ป่วยทางกายประมาณ ๓ เท่าตัว โดยเฉพาะคนติดเหล้ามากๆ จะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพหลอน หูแว่ว หลงผิด หวาดระแวง และคลุ้มคลั่ง
          ๓. วัณโรค
ประเทศไทยมีปัญหาวัณโรคอยู่ในอันดับที่ ๑๘ ของโลกและถือว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ ๖     รองจากมะเร็ง โรคหัวใจสำหรับคนไทยคาดว่าราว ๒๐ ล้านคนมีเชื้อวัณโรคในตัว พร้อมกำเริบหากสุขภาพทรุดโทรม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าจัด หรือติดเชื้อเอดส์ และส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ ๑๕-๔๔ ปี
๔. เบาหวาน
คนไทยเป็นกันเยอะขึ้นเกือบจะสิบเปอร์เซ็นต์ และการเกิดของโรครวดเร็วมาก อีกอย่างคือพออ้วนแล้วจะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบฮอร์โมนเปลี่ยนไป ซึ่งจะเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ซึ่งจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละน้อยๆ โดยไม่แสดงอาการ คือพอมีอาการบอกว่าเป็นโรคก็แปลว่าสะสมมาหลายปีแล้วโรคเหล่านี้มาจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกหลัก และการไม่ออกกำลังกายซึ่งสามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่น พฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่         ดื่มสุรา  ดูแลน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วน พยายามทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เลิกเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
            ๕. โรคความดันโลหิตสูง
            ความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันแพทย์วินิจฉัยว่าในภาวะปกติผู้ที่มีความดันเท่ากับหรือมากกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท เป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หากปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในระดับนี้นานๆ อาจทำให้อวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อม เช่น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตัน ๓/๔ เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ความดันจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ๑๐ มิลลิเมตรปรอทต่อปี
            ชนิดของโรคความดันโลหิตสูง
            ๑. ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเกิดจาก ๒ ปัจจัย คือ กรรมพันธุ์หรือสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน ทานอาหารเค็ม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เครียด เป็นต้น
            ๒. ชนิดที่ทราบสาเหตุ เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นผลมาจาก ที่เป็นโรคอื่นมาก่อนและมักต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบ       หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบในส่วนของช่องอก รวมถึงผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า ๔๕ ปี
            ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
            ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
            ๑. กรรมพันธุ์ จากการสำรวจความถี่ในการเกิดโรค พบว่า ผู้ที่มีพ่อแม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง      มีโอกาสและความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่า
            ๒. เพศและอายุ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มีข้อมูลบ่งบอกว่า พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในช่วงก่อนอายุ ๕๐ ปี แต่เมื่ออายุเลย ๕๐ ปี ผู้หญิงจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลง ซึ่งมีผลต่อความยืดหยุ่นของเส้นเลือด ส่วนในผู้ที่มีอายุมากกว่า   ๖๐ ปีขึ้นไป พบความดันโลหิตสูงเท่ากันทั้ง ๒ เพศ 
            ปัจจัยที่ควบคุมได้
            ๑. อ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน
            ๒. ไขมันในเลือดสูง
            ๓. ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
            ๔. กินเค็มเป็นประจำ
            ๕. ขาดการออกกำลังกาย
            ๖. มีภาวะดื้ออินซูลินหรือเป็นเบาหวาน
            รู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นโรคความดันโลหิตสูง
            ภาวะโรคความดันโลหิตสูง เปรียบเหมือนฆาตกรเงียบ หากความดันสูงเล็กน้อยหรือปานกลาง      มักไม่มีอาการเตือนให้รู้ตัว แต่สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการเหล่านี้ได้ เช่น
            - ปวดศีรษะตุบๆบริเวณท้ายทอย
            - เวียนศีรษะตอนตื่นนอนใหม่ๆ
            - ตาพร่ามัว
            - มีเลือดกำเดาไหล
            - เหนื่อยง่าย
            - เจ็บหน้าอก
            ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง อยู่นานจะเกิดอะไรขึ้น
            ถ้าคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงและปล่อยให้ตนเองมีค่าความดันสูงกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอทเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือต่อเนื่อง อีกทั้งควบคุมไม่ได้จนกระทั่งเกินกว่า ๑๖๐/๑๐๐ มิลลิเมตรปรอท ในที่สุดอาจเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน โรคเลือดสมอง ไตวาย และหัวใจวาย
            ๖.โรคหัวใจและหลอดเลือด
            มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน ๕๔,๕๓๐ คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ ๑๕๐ คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ ๖ คน อ้างอิง : จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๕๖
            ปัจจัยเสี่ยง ของอาการโรคหัวใจ
            - อายุขึ้นเลข ๔ วัย ๔๐ เป็นวัยที่ต้องระวังสุขภาพอย่างมาก (แต่ปัจจุบันพบว่าอัตราการเป็นโรคหัวใจพบมากขึ้นในคนอายุ ๓๐-๔๐ ปี)
            - พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัว พ่อหรือแม่เป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
            - เพศ ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่ออาการโรคหัวใจมากกว่าผู้หญิง
            - สูบบุหรี่
            - ไขมันในเลือดสูง มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่มีไขมันในเลือดปกติหรือต่ำกว่าหลายเท่า เพราะไขมัน คือ ตัวการสำคัญที่จะไปจับตามผนังหลอดเลือด และทำให้หลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
            - เบาหวาน น้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติและเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการควบคุมให้ดีพอ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ ไม่แข็งแรง และเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้
            - ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนที่มีความดันโลหิตสูงใช่ว่าจะทำให้เลือดมีแรงดันที่จะไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีกว่าคนที่ความดันโลหิตปกติ ตรงกันข้ามกลับทำให้หลอดเลือดเกิดการหดเกร็งตัว และทำให้หัวใจขาดเลือดได้อีกเหมือนกัน
            สัญญาณเตือน อาการโรคหัวใจ
            เหนื่อยง่ายเวลาออกกําลังกาย หรือเดินเร็วๆ หายใจเข้าได้ลำบาก อาจจะเป็นตลอดเวลา เป็นขณะออกกำลังกาย หรือใช้แรงมาก หรือเป็นเฉพาะในเวลากลางคืน อาการโรคหัวใจจะเจ็บหน้าอก หรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก หรือด้านซ้าย หรือทั้ง 2 ด้าน ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก นอกจากนั้น อาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก เป็นลมหมดสติไม่ทราบสาเหตุ ขา หรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ
            วิธีตรวจให้รู้ว่าคุณเป็นโรคหัวใจ หรือไม่
            แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติ อาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคนไข้  แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั้งตัว ทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต  ตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กไปวางตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ หน้าอก แขน และขา จากนั้นกราฟจะแสดงคลื่นไฟฟ้าเพื่อให้แพทย์อ่านผลและวินิจฉัยระดับความรุนแรงของโรคต่อไป และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือการให้ผู้ป่วยเดิน หรือวิ่งบนสายพาน เพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และดูการการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เพื่อดูกายวิภาคของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ การเคลื่อนที่และการบีบตัว วิธีนี้สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจได้เกือบทุกประเภท การตรวจหัวใจ         ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery) เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบจากการมีไขมันไปเกาะหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถควบคุมและรักษาปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจให้ผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ สามารถใช้ในการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจอีกด้วย หากเกิดข้อสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ การตรวจที่จะบอกได้แน่ชัด คือการตรวจฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ
 

เข้าดู : 1688 ครั้ง